BREAKING NEWS
latest

728x90

ad

468x60

ad

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

"ไม้พะยูง" ทำไมถึงแพง ปลูกกันยังไง?





พะยูง


1. ชื่อพันธุ์ไม้ พะยูง
2. ชื่อสามัญ (ไทย) กระยูง  กะยง (เขมร สุรินทร์)  ขะยุง (อุบลราชธานี)  แดงจีน (กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี)  ประดู่ลาย (ชลบุรี)  ประดู่แสน (ตราด)  พะยูงไหม (สระบุรี)  หัวลีเมาะ (จีน)  ประดู่ตม (จันทบุรี)

(อังกฤษ) Black Wood, Rose Wood, Siamese Rose Wood, Thailand Rose Wood.

3. ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierra
4. ชื่อวงศ์ Papilionaceae
5. การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ พะยูงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม สำหรับในประเทศไทยพบกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น และป่าดิบแล้ง ภาคตะวันออก และตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-300 เมตร

6. ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา พะยูงเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นเปลา ตรง เปลือกสีเทา เรียบ และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ เปลือกในสีน้ำตาลแกมเหลือง มีเรือนยอดรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ทึบ

ลักษณะเนื้อไม้  เนื้อละเอียด เสี้ยนสนเป็นริ้วแคบ ๆ เหนียว แข็งทนทาน หนักมาก สีน้ำตาลอ่อนแกนสีแดงอมม่วง หรือสีม่วงกึ่งสีเลือดหมูแก่ เป็นมันเลื่อม และมีริ้วสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อนผ่าน เลื่อยผา ไสกบ ตบแต่งยาก ขัดและชักเงาได้ดีมีน้ำมันในตัว

ใบ  เป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนก ช่อติดเรียงสลับ ยาว 10-15 ซม. แต่ละช่อมีใบย่อยรูปรี ๆ แกมรูปไข่ ติดเรียงสลับ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อเป็นใบเดี่ยว ๆ ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ มีลักษณะรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ใบกว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. โคนใบมน แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย หลังใบมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบ มี 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้านขอบใบเรียบ

ดอก  มีขนาดเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ๆ ทรงรูปดอกถั่ว ออกรวมกันเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือง่ามใบใกล้ยอด กลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ ขอบหยักเป็น 5 แฉก กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายโล่ กลีบปีกสองกลีบรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงจะเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปเรือหรือพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เกสรผู้มี 10 อัน อันบนจะเป็นอิสระ นอกนั้นจะติดกันเป็นกลุ่ม รังไข่รูปรี ๆ ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนหลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว จะยาวยื่นพ้นกลุ่มเกสรผู้ขึ้นมา ระยะเวลาออกดอก ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ผล  เป็นฝัก ผิวเกลี้ยง แบน และบอบบาง รูปขอบขนาน กว้าง 1.2 ซม. ยาว 4-6 ซม. ตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ดมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือน หลังจากออกดอกซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ฝักเมื่อแก่จะไม่แตกออกเหมือนฝักไม้แดงหรือฝักมะค่าโม่ง ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดอยู่ในฝัก

เมล็ด รูปไต สีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ผิวค่อนข้างมัน กว้าง 4 ซม. ยาว 7 มม. เมล็ดจะเรียงตามยาวของฝัก ใน 1 ฝักจะมีเมล็ดจำนวน 1-4 เมล็ด

7. การขยายพันธุ์ การขยายพันธุ์ไม้พะยูงที่มีการปฏิบัติกันคือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่สะดวกและนิยมใช้กันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ที่สามารถทำได้คือการนำเหง้ามาปักชำ

วิธีเพาะเมล็ด  เนื่องจากเมล็ดพะยูงมีความงันที่เปลือกอยู่บ้าง ดังนั้นเพื่อให้การงอกสม่ำเสมอ ควรขจัดความงันของเมล็ดออกด้วยการปฏิบัติเมล็ดก่อนเพาะ ซึ่งสามารถทำได้โดยนำเมล็ดมาแช่ในน้ำเย็นเป็นเวลา 24 ซม. แล้วนำไปเพาะในกระบะทราย กลบเมล็ดด้วยทรายบาง ๆ รดน้ำสม่ำเสมอแต่อย่าให้แฉะ เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่องอกได้ 10-14 วัน ก็นำกล้าย้ายลงถุงเพาะ 4x6 นิ้ว เจาะรู 8-12 รู โดยมีส่วนผสมดินเพาะชำที่เหมาะสมคือ ดินตะกอนริมห้วย : ทราย : ขี้เถ้า : แกลบ : ปุ๋ยหมัก = 5 : 2 : 2 : 1 (สุคนธ์  สิมศิริ และคณะ 2531) โดยทั่วไปเมื่อเลี้ยงกล้าไว้ประมาณ 3-5 เดือน จะได้กล้าที่มีขนาดเหมาะสมต่อการย้ายปลูก และกล้าควรจะมีความสูงไม่น้อยกว่า 30 ซม. จึงย้ายไปปลูก








8. การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากตามสภาพธรรมชาติไม้พะยูงจะขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดิบแล้งทั่วไปเกือบทุกภาคของประเทศไทย ดังนั้นจึงสามารถปลูกพะยูงได้ในหลายพื้นที่ทั้งภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ การเตรียมพื้นที่ปลูกพะยูงก็มีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกพรรณไม้ป่าชนิดอื่น

ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปลูกพะยูง ควรจะปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นหรือกลางฤดูฝนและควรใช้ต้นกล้าที่เพาะจากเมล็ดไปปลูกซึ่งระยะปลูกที่ใช้ปลูกกันคือระยะ 3x3 หรือ 2x3 เมตร ก่อนนำไปปลูกควรใส่ปุ๋ยต้นละ 1 ช้อนชา เพื่อให้กล้าไม้มีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอในช่วงระยะแรกของการตั้งตัว และสามารถแข่งขันกับวัชพืชได้

พะยูงเป็นไม้ที่มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางปลูกได้โดยทั่วไปในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมเหมาะสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ความรู้เกี่ยวกับอัตราการเจริญเติบโตของไม้พะยูงยังมีการศึกษากันน้อย โดยเฉพาะอัตราการเจริญเติบโตจนถึงช่วงอายุตัดฟันและปริมาตรมวลชีวภาพที่จะได้ในแต่ละช่วงอายุตัดฟัน แต่อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตของไม้พะยูงในช่วงอายุ 1-4 ปี นั้น อนันต์  สอนง่าย และคณะ (2531) ได้รายงานไว้ว่า เมื่อปลูกพะยูงด้วยระยะปลูก 2x3 เมตร กล้าไม้เมื่อมีอายุ 1 และ 2 ปี จะมีความสูง 1.1 เมตร และ 2.1 เมตร ตามลำดับ และกล้าไม้อายุ 4 ปี เมื่อปลูกในระยะ 2x2 เมตร จะมีความสูง 4.4 เมตร

วิศาล  เลิศนิติวงศ์ (2531) ได้รายงานว่า จากการทดลองไม้พะยูงที่สถานีปลูกพรรณไม้สระบุรี อ.เมือง จ.สระบุรี โดยแบ่งแปลงทดลองออกเป็น 2 แปลง คือ แปลงที่ใส่ปุ๋ยกับแปลงที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ซึ่งบริเวณที่ทำการทดลอง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 40 เมตร อุณหภูมิต่ำสุดและสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 22.7-34.7 องศาเซลเซียส มีปริมาณฝนตกตลอดปีโดยเฉลี่ย 1488 มิลลิเมตร พบว่า เมื่อต้นไม้อายุครบ 5 ปี 8 เดือนแล้ว ในแปลงทดลองที่ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ต้นพะยูงมีความสูง 4.2 เมตร ความโตวัดผ่าศูนย์กลาง 4.65 ซม. มีอัตราการรอดตาย 85.3% ส่วนแปลงที่ใส่ปุ๋ย ต้นไม้มีความสูง 4.6 เมตร ความโตวัดผ่าศูนย์กลาง 5.8 ซม. มีอัตราการรอดตาย 78.6%

9. วนวัฒนวิธีและการจัดการ เมื่อปลูกพะยูงไปแล้วก็มีวิธีการปฏิบัติและดูแลรักษาเช่นเดียวกับการปลูกไม้ป่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อต้นไม้พะยูงยังเล็กอยู่ควรใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง และมีการกำจัดวัชพืช อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง การตัดแต่งกิ่งไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะปลูกในระยะแคบทำให้มีการลิดกิ่งเองตามธรรมชาติ ส่วนการตัดสางขยายระยะขึ้นอยู่กับระยะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณนั้น คือสังเกตว่า เมื่อเรือนยอดเริ่มเบียดเสียดกันมากก็เริ่มตัดสางขยายระยะได้และควรพิจารณาต้นที่โตด้อยกว่าต้นอื่นเป็นหลัก

10. การใช้ประโยชน์
1. เนื้อไม้ เนื่องจากพะยูงมีเนื้อไม้ที่มีสีสรรที่สวยงาม จึงมีการนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ แกะสลัก สิ่งประดิษฐ์ ไม้ถือและด้ามเครื่องมือ คุณภาพดี ราคาแพง ใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน กระบะรถยนต์ กระสวยทอผ้า ด้ามหอก คันธนู หน้าไม้ ใช้ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซออู้ ขลุ่ย โทน รำมะนา ลูกระนาด
2. ใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงครั่ง  ไม้พะยูง เป็นไม้ที่เลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กก. และให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรด A
3. ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร  ราก ใช้รับประทานแก้พิษไข้เซื่องซึม  เปลือก ต้มเอาน้ำแก้ปากเปื่อย ปากแตกระแหง  ยางสด ใช้ทาแก้เท้าเปื่อย





ขอบคุณข้อมูลจาก http://bit.ly/2R5AYRW

« PREV
NEXT »

ไม่มีความคิดเห็น