นางจิตรา ผดุงศักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มผลิตภาชนะกาบหมากบ้านท่าดีหมี กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มจากเมื่อปีที่แล้ว ตนได้มีโอกาสพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พูดคุยเกี่ยวกับปัญหาขยะ และหาวิธีการอย่างไรที่จะลดปริมาณขยะใน จ.เลย ตนจึงได้นำรูปภาพถ้วยจานที่ทำจากกาบต้นหมากในประเทศอินเดียเสนอ นายชัยวัฒน์ จากนั้นนั้นก็มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.เลย เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยได้เลือกเอาหมู่บ้านท่าดีหมี เป็นแหล่งผลิต เนื่องจากชาวบ้านมีความพร้อม และในอนาคตที่หมู่บ้านแห่งนี้จะมีแหล่งท่องเที่ยวสกายวอล์คปากแม่น้ำเหือง ซึ่งตนก็ได้รู้จักกับเพื่อนชาวเนปาล จึงให้เขาพาไปดูแหล่งผลิตที่ประเทศอินเดีย และติดต่อขอซื้อเครื่องจักรมาด้วย ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทาง จ.เลย ได้มีการทำประชาคม จ.เลย ซึ่งคิดกันว่าอยากจะลดการใช้โฟม และพลาสติกในจังหวัด จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย คือ การนำวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ คือ กาบหมาก มาผลิตเป็นเป็นจาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศอินเดียมาช่วยสอนให้ ชาวบ้านในหมู่บ้านท่าดีหมี ซึ่งหมู่บ้านท่าดีหมี มีพื้นฐานการทำหลอดไม้ไผ่ที่จะลดพลาสติกอยู่แล้ว
“ตอนนี้นำเครื่องจักรมาผลิตเป็นต้นแบบได้แล้ว แต่ยังราคาสูงอยู่ ซึ่งขณะนี้มีทักษะในการทำที่ได้มาจากประเทศอินเดีย และมีช่องทางในการซื้อขาย และจากนี้ไปเราจะพัฒนาเป็นวัสดุอื่นๆ ด้วย สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ถ้วยจานกาบหมากของชาวบ้านท่าดีหมี สามารถติดต่อได้ที่คุณเรียน หัวหน้ากลุ่ม หมายเลขโทรศัพท์ 098-6126237”
นางจิตรา กล่าวอีกว่า จากการทดลองผลิตถ้วยจานจากกาบต้นหมากที่นี่ 7 วัน ที่ผ่านมา พบปัญหาวัตถุดิบใน จ.เลย มีไม่เพียงพอ ต้องออกไปซื้อมาจาก จ.ตาก ในราคาใบละ 2.5 บาท รวมต้นทุนการผลิตแล้วอยู่ที่ใบละ 4.5 บาท จึงถือว่าราคาค่อนข้างสูง เราจึงนำเอาใบไม้หรือกาบกล้วยที่มีในท้องถิ่นมากมายมาทำด้วย ซึ่งก็ใช้ดีพอสมควร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
สำหรับการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของชาวบ้าน ทั้งด้านการตลาด การผลิต ในต้นเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะนำออกไปจำหน่ายได้ โดยพัฒนาให้สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง โดยในช่วงแรกนี้ จะเน้นไปที่ถนนคนเดินเชียงคาน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ซึ่งหากทุกร้านอาหารบนถนนเส้นนี้พร้อมใจกันนำถ้วยจานไปใช้ ก็จะเป็นภาพที่สวยงาม เข้ากับบรรยากาศบ้านไม้เก่าเป็นอย่างดี และที่สำคัญจะสามารถลดปริมาณขยะได้มากขึ้นด้วย
น.ส.ภูษณิศา โฉสูงเนิน ตัวแทนกลุ่มผลิตจานกาบหมากบ้านท่าดีหมี กล่าวว่า เดิมกลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันอยู่แล้วในนามกลุ่มโอท็อป เมื่อมีโครงการนี้เข้ามา ชาวบ้านก็ตื่นตัว เป็นอย่างมากมีสมาชิกที่ร่วมงานกันอย่างจริงจังตอนนี้ 20 คน โดยรวมหุ้นกัน เตรียมทำกันในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งทุกคนมีความคาดหวังว่าถ้วยจานจากวัสดุธรรมชาติจะลดปริมาณขยะลงไปได้มาก เพราะในไม่ช้านี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมสกายวอล์คที่บ้านท่าดีหมีมากขึ้นปัญหาขยะก็จะตามมา ชาวบ้านทุกคนจึงตระหนักถึงปัญหานี้ เข้าร่วมโครงการด้วยความยินดี พร้อมจะช่วยกันดูแล ดำเนินกิจการให้เจริญก้าวหน้า สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน
ด้านนายบาบู เสทุมาได นักวิชาการนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากรัฐมทิฬนาทู ประเทศอินเดีย หัวหน้าคณะวิทยาการ กล่าวว่า จากการที่มาอยู่ที่บ้านท่าดีหมี 7 วัน ต้องชื่นชมชาวบ้านที่มีความตั้งใจเรียนรู้ ในระยะเวลาที่จำกัด แต่พวกเขาพัฒนาได้เร็วมาก จึงเชื่อว่าจะสามารถประสบความสำเร็จในการทำภาชนะจากธรรมชาติ แต่ปัญหาคือ คุณภาพของกาบหมากที่นำมาผลิต ยังไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับที่ผลิตในอินเดีย ที่นั่นต้องไปซื้อไกลถึง 600 กิโลเมตร ถ้วยจานสามารถใช้ได้หลายครั้ง เพราะหนากว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประเทศไทยมีวัตถุดิบอื่นๆ ที่น่าจะนำมาผลิตทดแทนได้หลายชนิด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนถูกลงด้วย
ที่มา : www.naewna.com
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น