บานไม่รู้โรย (ดอกสามปี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gomphrena globosa Linn.
วงศ์ : AMARANTHACEAE
ชื่อสามัญ : Bachalor’s Button,Button Agaga,Globe Amaranth,Pearly Everlasting
ชื่ออื่นๆ : กะล่อม ตะล่อม (ภาคเหนือ) ดอกสามเดือน กุนหยี (ภาคใต้)
ลักษณะทั่วไป : บานไม่รู้โรยเป็นไม้ที่กำเนิดอยู่ในแถบร้อนของ ทวีปเอเชีย ทนต่อความร้อนความแห้งแล้งได้ดี เป็นไม้ล้มลุก ทรงพุ่มสูงประมาณ 100-150 ซ.ม ออกดอกเดี่ยวขนาดเล็กกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ3/4นิ้ว กลีบดอกแข็งเล็กจัดเรียงตัวรวมกันอยู่อย่างหนาแน่น มีสีชมพู ขาว ม่วงอมฟ้า และส้ม ดอกใช้ประโยชน์ได้ทั้งสดและแห้ง
ไม้ล้มลุก (ExH) สูงประมาณ 15-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงหรือโคนต้นอาจจะเอนราบกับดิน ที่ข้อของต้นจะพอกออกเล็กน้อย และเกิดรากตามข้อ ลำต้นมักจะมีข้อสีแดงหรือบางต้นมีสีเขียว กิ่งอ่อน ๆ มีขนอยู่ทั่วไป
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะใบรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานหรือ รูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ตัวใบมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบกว้าง ก้านใบยาว แต่ใบคู่ยอดที่ติดกับดอกจะไม่มีก้าน
ดอก ออกเป็นกระจุกกลม ๆ ประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ มากมาย อยู่บนก้านช่อดอก ออกเดี่ยว ๆ หรือ บางครั้งก็ออกเป็นกลุ่ม 2-4 กระจุก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.75-2.25 ซม. มี 3 สี คือ ขาว ชมพู และม่วงแดงเข้ม ออกดอกตามซอกใบใกล้ยอด แต่ละดอกมีใบประดับ 2 ใบ กลีบรวมมี 5 กลีบ ออกดอกตลอดปี
ผล ลักษณะรูปไข่แกมขอบขนาน มีเปลือกบาง ขนาดเล็ก ยาวเพียง 2-5 มม. เมล็ดแบน สีน้ำตาล เป็นมัน
การขยายพันธุ์ : เมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมที่สุด เหมือนไม้ดอกหลาย ๆ ชนิดที่ปลูกง่าย ทั่ว ๆไป แม้แต่เมล็ดที่ร่วงหล่นลงใต้ต้นยังสามารถปลูกเป็นต้นใหม่ได้โดยไม่ต้องเพาะ
คติความเชื่อ : มีคู่รักต้องปลูกต้นบานไม่รู้โรยไว้ในบ้านด้วย เพราะชื่อบานไม่รู้โรยเป็นชื่อมงคล หมายความถึง ความยั่งยืน ความอดทน และไม่ย่อท้อ หากเปรียบกับความรักก็เหมือนความรักที่ยั่งยืน ช่วยให้คู่รักมีความผูกพันมั่นคงต่อกันไปนาน ๆ ปราศจากความโรยรา หรือผันแปรตลอดไป
ประโยชน์ทางยา : รสและสรรพคุณในตำรายา แพทย์แผนไทยใช้ชนิดดอกสีขาวเป็นยา ราก รสเย็นขื่น แก้โรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ ขับระดู รักษาโรคบิดและอาการไอ ทั้งต้น รสขื่นเล็กน้อย ต้มเอาน้ำดื่มแก้หนองใน กามโรค ขับปัสสาวะ นิ่ว และแก้ระดูขาว
สรรพคุณของบานไม่รู้โรย
- ทั้งต้นและรากมีรสเย็นขื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กษัย (ทั้งต้นและราก)
- ดอกและต้นมีรสหวาน ขื่น ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาแก้ตับร้อนหรือธาตุไฟเข้าตับ ช่วยแก้ตาเจ็บ ตามัว อันเนื่องจากธาตุไฟเข้าตับ (ต้น, ดอก)
- ใช้แก้เด็กตัวร้อนตาเจ็บ ด้วยการใช้ดอกสดประมาณ 10-14 ดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ผสมกับฟักเชื่อมแห้ง นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยา (ดอก)
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ แก้ลมขึ้นศีรษะ ทำให้เวียนศีรษะ ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมและหญ้าแซ่ม้า 20 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
- ใช้แก้เด็กเป็นโรคลมชัก ด้วยการใช้ดอก 10 ดอกผสมกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว (Oxya chinensis thumb.) นำมาตุ๋นเป็นยารับประทาน (ดอก)
- ช่วยแก้อาการไอ (ทั้งต้นและราก, ดอก) แก้อาการไอเป็นเลือด เลือดออกตามทวารทั้งเก้า (ดอกและต้น, ทั้งห้าส่วน) แก้ไอกรน (ดอก)
- ใช้แก้หืดหอบ ไอหืด ไอหอบ หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 10-15 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือให้ใช้สารที่สกัดได้จากดอกทำเป็นยาฉีด โดยใช้ครั้งละ 0.3 ซีซี ถ้าหากมีเสมหะมากให้เพิ่มปริมาณได้อีกตามที่แพทย์สั่ง (ดอก)
- ช่วยขับเสมหะ (ดอก)
- ช่วยรักษาโรควัณโรคในปอด (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคบิด (ทั้งต้นและราก, ดอก)ช่วยแก้บิดมูก ให้ใช้ดอก 10 ดอกนำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยา (ดอก)
- ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ ขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ (ทั้งต้นและราก, ดอก)
- ช่วยแก้ปัสสาวะขัด ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ด้วยการใช้ดอก 10 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทานบ่อย ๆ (ดอก)
- ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค แก้หนองใน (ทั้งต้นและราก)
- ทั้งต้นและรากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มุตกิดหรือตกขาว ช่วยขับระดูขาวของสตรี ช่วยขับระดูขาวให้แห้ง (ทั้งต้นและราก)
- ดอกใช้เป็นยาบำรุงตับ (ดอก)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษต่าง ๆ (ราก)
- ดอกใช้เป็นยารักษาแผลผื่นคัน ใช้รักษาฝีประคำร้อย (ดอก)
- ใช้ต้นสด กะปริมาณตามความเหมาะสม ใช้ภายนอกนำมาตำพอกเป็นยาแก้ฝีหนอง (ต้น)
- ตำรับยารักษามะเร็ง ระบุให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาวทั้งห้าส่วนจำนวน 4 บาท, ขมิ้นอ้อย 4 บาท, ข้าวเย็นเหนือ 4 บาท, ข้าวเย็นใต้ 4 บาท, ชุมเห็ดเทศทั้งห้า 4 บาท, ทองพันชั่งทั้งห้าส่วน 4 บาท, ยาดำ 5 บาท และฟ้าทะลายโจร 20 บาท นำมาต้มรับประทานหลังอาหารวันละ 1 ครั้ง (ทั้งห้าส่วน)
- ตำรับยารักษามะเร็งมดลูกและมุตกิดระดูเสียของสตรีระบุว่าให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาว บานไม่รู้โรยดอกแดง แก่นฝาง รากมะละกอ รากเข็มแดง เถาอีปล้อง เถามวก หญ้าไซ อย่างละ 3 บาท และสารส้มอีก 2 สลึง นำมาต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็นครั้งละ 1 ถ้วย หรืออีกตำรับยารักษามะเร็งมดลูกระบุว่าให้ใช้บานไม่รู้โรยดอกขาวและบานไม่รู้โรยดอกแดง กระดูกกูรำ ก้องแกลบ ขันทองพยาบาท งวงตาล เถาวัลย์เปรียง รากกล้วยตีบ รากกำจาย รากผักหนาม รากหนอนตายอยาก สารส้ม ดินประสิว อย่างละ 1 บาท และข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ อย่างละ 10 บาท นำมาต้มกินเป็นยาเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา (ดอก)
- ตำรับยากระทุ้งไข้แก้เหือดหัดในเด็กระบุว่าให้ใช้ต้นบานไม่รู้โรยดอกขาว ผลประคำดีควาย เปลือกทองหลางใบมน รากก้างเปลา รากฟักเขียว รากไมยราบ ย่านาง หัวคล้า หัวปรง และหัวว่าวใหญ่ อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกินเป็นยาเช้าเย็น จะช่วยกระทุ้งพิษ ดับพิษห้ามกำเริบ แล้วจึงค่อยกินยาแก้ไข้ต่อไป (ต้น)
- ตำรับยาแก้มดลูกเคลื่อนหรือกะบังลมเคลื่อนระบุว่าให้ใช้รากและต้นของบานไม่รู้โรย โคกกระสุน โคกกระออม รากพุมเรียง รากมะดัน รากขนุนละมุด และใบหนาด หนังอย่างละ 4 บาท นำทั้งหมดมาใส่ในหม้อต้ม ต้มกินเป็นยาก่อนอาหารเช้าและเย็น ครั้งละ 1 ถ้วยชา โดยให้กินติดต่อกัน 15 วัน มดลูกหรือกะบังลมจะหดกลับเข้าสู่ที่ตั้งตามธรรมชาติ (รากและต้น)
ที่มา :https://medthai.com
ไม่มีความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น